biology

วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2550

Polynucleotides


โพลีนิวคลีโอไทด์เกิดจากการเชื่อมต่อกันของนิวคลีโอไทด์เป็นสายยาวๆ โดยไม่มีการแตกแขนง การเชื่อมต่อกันของนิวคลีโอไทด์นั้นเกิดจากการสร้างพันธะเอสเธอร์ระหว่างหมู่ฟอสเฟตที่ตำแหน่ง 5′ ของนิวคลีโอไทด์หนึ่ง กับหมู่ไฮดรอกซีที่ตำแหน่ง 3′ ของอีกหน่วยนิวคลีโอไทด์ เป็นเหตุให้โมเลกุลของโพลีนิวคลีโอไทด์มีปลาย ๒ ปลาย คือปลาย 5′-phosphate กับปลาย 3′-OH ตามตัวอย่าง
จากตัวอย่างจะเห็นว่าโพลีนิวคลีโอไทด์มีโครงสร้างสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นแกน (back bone) ประกอบขึ้นจากฟอสเฟตและน้ำตาลไรโบสเรียงสลับกัน กับส่วนที่เป็นกิ่งยื่นออกจาก back bone คือเบสไนโตรเจน ซึ่งมีความแตกต่าง หลากหลายกันไปตามแต่ชนิดของโพลีนิวคลีโอไทด์เอง

ชีววิทยา


ชีววิทยา เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในทุกๆแง่มุม ชีววิทยาซึ่งถือเป็นการศึกษาหลักที่แยกย่อยไปเป็นวิชาทางชีวภาพอื่นๆมากมาย ไม่ชีววิทยาเป็นสาขาวิชาที่ใหญ่มากจนไม่อาจศึกษาเป็นสาขาเดียวได้ จึงต้องแยกออกเป็นสาขาย่อยต่างๆ ในหัวข้อนี้จะแบ่งสาขาย่อยออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งเป็นสาขาที่ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต อย่างเช่นเซลล์ ยีน เป็นต้น กลุ่มที่สองศึกษาการทำงานของโครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่ระดับเนื้อเยื่อ ระดับอวัยวะ จนถึงระดับร่างกาย กลุ่มที่สามศึกษาประวัติศาสตร์ของสิ่งมีชีวิต กลุ่มที่สี่ศึกษาความสัมพันธ์ในระหว่างสิ่งมีชีวิต อย่างไรก็ตาม การแบ่งกลุ่มนี้เป็นเพียงการจัดหมวดหมู่ให้สาขาต่างๆในชีววิทยาให้เป็นระเบียบและเข้าใจง่าย แต่ความจริงแล้ว ขอบเขตของสาขาต่างๆนั้นไม่แน่นอน และสาขาวิชาส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้ความรู้จากสาขาอื่นด้วย ตัวอย่างเช่น สาขาชีววิทยาของวิวัฒนาการ ต้องใช้ความรู้จากสาขาอณูวิทยา เพื่อจัดลำดับของดีเอ็นเอ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความแปรผันทางพันธุกรรมของประชากร หรือสาขาวิชาสรีรวิทยา ต้องใช้ความรู้จากสาขาชีววิทยาของเซลล์ เพื่ออธิบายการทำงานของระบบอวัยวะ
การศึกษาสิ่งมีชีวิตในระดับ
อะตอมและโมเลกุล จัดอยู่ในสาขาวิชาอณูชีววิทยา ชีวเคมี และอณูพันธุศาสตร์ การศึกษาในระดับเซลล์ จัดอยู่ในสาขาวิชาเซลล์วิทยา และในระดับเนื้อเยื่อ จัดอยู่ในสาขาวิชาสรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ และมิญชวิทยา สาขาวิชาคัพภวิทยา
เป็นการศึกษาการเจริญเติบโตและพัฒนาการของตัวอ่อนของสิ่งมีชีวิต
สาขาวิชา
พันธุศาสตร์เป็นการศึกษาการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง สาขาวิชาพฤติกรรมวิทยาเป็นการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มสิ่งมีชีวิต สาขาวิชาพันธุศาสตร์ประชากร เป็นการศึกษาพันธุศาสตร์ในระดับประชากรของสิ่งมีชีวิต การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งกับสิ่งมีชีวิตอีกชนิดหนึ่ง และระหว่างสิ่งมีชีวิตกับถิ่นที่อยู่อาศัย จัดอยู่ในสาขาวิชานิเวศวิทยาและชีววิทยาของวิวัฒนาการ

โครงสร้างของนิวคลีโอไทด์


นิวคลีโอไทด์ประกอบขึ้นจากสารเคมีสามอย่างมาประกอบกันคือ
กรดฟอสฟอริก
น้ำตาลเพนโทส มีอยู่สองชนิดคือ น้ำตาลไรโบส และ ดีออกซีไรโบส น้ำตาลทั้งสองต่างกันตรงที่น้ำตาลดีออกซีไรโบสขาดหมู่ไฮดรอกซี (-OH) ที่คาร์บอนตำแหน่งที่สอง
เราสามารถใช้ปฎิกิริยาทางเคมีตรวจหาน้ำตาลทั้งสองชนิดได้โดย ใช้ปฏิกิริยาไดเฟนิลามีน (diphenylamine) ตรวจหาปริมาณน้ำตาลดีออกซีไรโบส และใช้ปฏิกิริยาออร์ซินอล (orcinol) ตรวจหาน้ำตาลไรโบส
เบสไนโตรเจน มีอยู่สองกลุ่มคือ เบสพิวรีน (purine) ได้แก่ Adenine กับ Guanine อีกกลุ่มหนึ่งคือ เบสไพริมิดีน (pyrimidine) ได้แก่ Thymine, Cytosine และ Uracil เบสทั้งสองชนิดสามารถดูดกลืนแสงได้ดีที่สุดที่ 260 nm เราจึงใช้คุณสมบัตินี้ ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกรดนิวคลีอิก
หน่วยย่อยทั้งสามมาประกอบกันขึ้นเป็น nucleotide โดยมีน้ำตาลเป็นตัวเชื่อม กรดฟอสฟอริก เชื่อมต่อกับน้ำตาลเพนโทสด้วยพันธะเอสเธอร์ที่คาร์บอนตำแหน่งที่ ๕ ของน้ำตาล ส่วนเบสไนโตรเจนนั้น จะมาเชื่อมต่อกับน้ำตาลที่คาร์บอนตำแหน่งที่ ๑ ด้วยพันธะ ß - glycosidic

ไรโบโซม


ไรโบโซม เป็น ไรโบนิวคลีโอโปรตีน ประกอบขึ้นจาก rRNA กับโปรตีน ไรโบโซมมีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์โปรตีนของเซลล์ ซึ่งเซลล์ยูคาริโอตมีไรโบโซมขนาด 80 S แต่โปรคาริโอตจะมีไรโบโซมขนาด 70 S ไรโบโซมมีสองหน่วยย่อย (subunit) คือ large subunit (60S, 50S) กับ small subunit (40S, 30S) ของ ยูคาริโอตและโปรคาริโอต ตามลำดับ
ไรโบโซมพบได้ทั้งในไซโทพลาสซึม และในไมโตคอนเดรีย เมื่อจะมีการสังเคราะห์โปรตีน ไรโบโซมทั้งสองหน่วยย่อยต้องเข้ามาประกอบกัน เพื่อการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์ในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน

สารพันธุกรรม


สารพันธุกรรม (อังกฤษ: Genetic Materials) คือ สารชีวโมเลกุล (Biomolecules) ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลรหัสสำหรับการทำงานของของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เอาไว้ และเมื่อสิ่งมีชีวิตมีการสืบพันธุ์ เช่น เซลล์มีการแบ่งเซลล์ ก็จะมีการแบ่งสารพันธุกรรมนี้ไปยังเซลล์ที่แบ่งไปแล้วด้วย โดยยังคงมีข้อมูลครบถ้วน
สารชีวโมเลกุลที่ทำหน้าที่เป็นสารพันธุกรรมในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูง ซึ่งพบได้จาก นิวเคลียสของเซลล์ เรียกรวมว่า กรดนิวคลีอิค(Nucleic acids) โดยคุณสมบัติทางเคมีแบ่ง กรดนิวคลีอิคลงได้เป็นสองชนิดย่อย คือ อาร์เอ็นเอ (RNA – Ribonucleic acid) และ ดีเอ็นเอ (DNA – Deoxyribonucleic acid) สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่มีสารพันธุกรรมเป็น ดีเอ็นเอ, ยกเว้น ไวรัสบางชนิดเป็น อาร์เอ็นเอ (ไวรัสส่วนมาก มีสารพันธุกรรมเป็น ดีเอ็นเอ)
รหัสบนสารพันธุกรรม หากมีการถอดรหัส (Transcription) ออกมาได้ เรียกรหัสส่วนนั้นว่า ยีน (Gene)

โครงสร้างของ ดี เอน เอ


การศึกษาโครงสร้างของ ดี เอน เอ มีรากฐานมาจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่ม เริ่มตั้งแต่งานของ Chargaff แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งได้ศึกษาองค์ประกอบเบสของ ดี เอน เอ จากแหล่งต่างๆ แล้วสรุปเป็นกฎของ Chargaff ดังนี้
องค์ประกอบเบสของ DNA จากสิ่งมีชีวิตต่างชนิดจะแตกต่างกัน
องค์ประกอบเบสของ DNA จากสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันจะเหมือนกัน แม้ว่าจะนำมาจากเนื้อเยื่อต่างกันก็ตาม
องค์ประกอบเบสของ DNA ในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมีความคงที่ ไม่แปรผันตามอายุ อาหาร หรือสิ่งแวดล้อม
ใน DNA ไม่ว่าจะนำมาจากแหล่งใดก็ตาม จะพบ A=T , C=G หรือ purine = pyrimidine เสมอ
นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่ม ได้แก่ Flanklin และ Wilkins แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน ได้ศึกษาโครงสร้างของโมเลกุลของ ดี เอน เอ โดยใช้ภาพถ่ายการหักเหรังสีเอกซ์ที่ฉายผ่านโมเลกุล (X-rays diffraction)


ดี เอน เอ มีรูปร่างเป็นแท่งเกลียวเวียนขวา (alpha-helix) ประกอบขึ้นจากโพลีดีออกซีไรโบนิวคลีโอไทด์สองสาย เชื่อมกันด้วยพันธะไฮโดรเจนที่เกิดระหว่างเบสไนโตรเจนของแต่ละสาย โพลีดีออกซีไรโบนิคลีโอไทด์ทั้งสองสายนี้ จะทอดตัวกลับหัวกลับหางกัน (antiparalle) สายหนึ่งทอดตัวในทิศ 5′ - 3′ อีกสายหนึ่งจะทอดตัวในทิศ 3′ -5′ ในการเข้าคู่กันนี้ทั้งสองสายจะหันส่วนที่เป็นน้ำตาลและฟอสเฟตออกข้างนอก แล้วฝังส่วนที่เป็นเบสไว้ภายในแกนกลางโมเลกุล ทำให้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งเกลียว ดี เอน เอ มีขนาด 20 Å
๑ รอบเกลียวมีขนาด 34 Å ประกอบขึ้นจากจำนวนคู่เบส ๑๐ คู่ ดังนั้นแต่ละคู่เบสจะอยู่ห่างกัน 3.4 Å และการบิดรอบเกลียวทำให้โมเลกุลของ ดี เอน เอ เกิดร่องเกลียวสองขนาด ขนาดใหญ่เรียกว่า major groove ขนาดเล็กเรียกว่า minor groove
การจับกันด้วยพันธะไฮโดรเจนของคู่เบสนั้น เป็นการเข้าคู่ที่จำเพาะ คือ C จะจับกับ G ด้วยพันธะไฮโดรเจน ๓ พันธะ และ A จับกับ T ด้วยพันธะไฮโดรเจน ๒ พันธะ

คุณสมบัติของ ดี เอน เอ


ความเป็นกรด ในสิ่งแวดล้อมปกติของเซลล์ ดี เอน เอ มีประจุเป็นลบ แสดงถึงคุณสมบัติการเป็นกรด ดี เอน เอ จึงสามารถจับกับไอออนหรือสารอื่นที่มีประจุบวกได้
การเสียสภาพของ ดี เอน เอ คำว่าการเสียสภาพ (denaturation) ของ ดี เอน เอ หมายถึงการทำให้ ดี เอน เอ ซึ่งเคยเป็นสายคู่แยกตัวออกมาเป็นสายเดี่ยว สิ่งที่ทำให้เกิดการเสียสภาพธรรมชาติของ ดี เอน เอ ได้แก่ ความร้อน กรด ด่าง รังสีเอกซ์ ยูเรีย ดี เอน เอ ที่เสียสภาพธรรมชาติไปแล้ว ถ้าปรับสิ่งแวดล้อมใหม่ให้เหมาะสม มันสามารถคืนสภาพธรรมชาติได้ใหม่ ตัวอย่างเช่น ในเทคนิค hybridization เขาจะทำให้ ดี เอน เอ เสียสภาพธรรมชาติด้วยความร้อนก่อน แล้วให้คืนสภาพธรรมชาติใหม่ด้วยการค่อยๆลดอุณหภูมิลง
การดูดกลืนแสง ด้วยคุณสมบัติของเบส ที่สามารถดูดกลืนแสงได้มากที่สุดที่ 260 nm ดี เอน เอ ก็ดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่นนี้ได้ดีที่สุดเช่นกัน คุณสมบัตินี้ทำให้เราสามารถวัดหาปริมาณ ดี เอน เอ ด้วยการวัดการดูดกลืนแสง แต่สิ่งที่ต้องคำนึงในที่นี้คือ ดี เอน เอ ในปริมาณที่เท่ากัน ถ้าเป็นสายเดี่ยว (จากการทำให้เสียสภาพธรรมชาติ) จะดูดกลืนแสงได้มากกว่า ดี เอน เอ สายคู่ คุณสมบัตินี้เรียกว่า ไฮเพอร์โครมิซึม (hyperchromism)

อาร์ เอน เอ (Ribonucleic acid RNA)


อาร์ เอน เอ เป็นโพลีไรโบนิวคลีโอไทด์ที่มีนิวคลีโอไทด์มาเชื่อมกันด้วยพันธะฟอสโฟไดเอสเธอร์ในทิศ 5′ - 3′ เหมือน ดี เอน เอ สิ่งมีชีวิตบางชนิดใช้ อาร์ เอน เอ เป็นสารพันธุกรรมเช่นไวรัสเอดส์ แต่ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงเช่นมนุษย์ อาร์ เอน เอ ทำหน้าที่หลายอย่างแบ่งตามชนิดได้ตามนี้
Ribosomal RNA (rRNA)rRNA เป็น อาร์ เอน เอ ที่เป็นองค์ประกอบของไรโบโซม ในสิ่งมีชีวิตชั้นสูงพบ rRNA อยู่ ๔ ขนาดคือ 28S, 18S, 5.8S และ 5S rRNA ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีน
Messenger RNA (mRNA) mRNA เป็นตัวถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรม จาก ดี เอน เอ ออกมาเป็นโปรตีน เมื่อเซลล์ต้องการสร้างโปรตีนขึ้นมาใช้งาน เซลล์จะคัดลอก gene สำหรับสร้างโปรตีนนั้นออกมาเป็น mRNA ดังนั้น mRNA จึงเกิดขึ้นในนิวเคลียส เมื่อมี mRNA แล้ว จะมีกระบวนการขนส่ง mRNA ออกจากนิวเคลียสสู่ไซโตพลาสม ซึ่งเป็นที่สำหรับสังเคราะห์โปรตีน
transfer RNA (tRNA) tRNA ตัวมันจะมีกรดอะมิโนมาเกาะอยู่ ทำหน้าที่นำกรดอะมิโนมาเรียงร้อยต่อกันเป็นโปรตีน ชนิดของกรดอะมิโนที่จะนำมาต่อนี้ถูกกำหนดโดยรหัสพันธุกรรมบน mRNA ส่วน tRNA มีตัวช่วยอ่านรหัสเรียกว่า anticodon

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ไวรัส

ไวรัส
ไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่สุด ประกอบด้วยกรดนิวคลีอิกห่อหุ้มด้วยโปรตีน ดังนั้นไวรัสจึงเป็นนิวคลีโอโปรตีนชนิดหนึ่ง เราสามารถจำแนกไวรัสออกตามชนิดของกรดนิวคลีอิกได้เป็น ดี เอน เอ ไวรัส และ อาร์เอน เอ ไวรัส เพราะในไวรัสแต่ละชนิดจะประกอบขึ้นจากกรดนิวคลีอิกเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น ไวรัสบางชนิดอาจพบคาร์โบไฮเดรตและไขมันในองค์ประกอบได้บ้าง แต่พบในปริมาณที่น้อยมาก
กรดนิวคลีอิกของไวรัสทำหน้าที่เป็นสารพันธุกรรม ส่วนโปรตีนและสารประกอบอื่นทำหน้าที่ในการปกป้องสารพันธุกรรมไม่ให้ถูกทำลาย และช่วยในการขยายพันธุ์ของไวรัส

โครโมโซม

โครโมโซม
โครโมโซมเป็นดีออกซีไรโบนิวคลีโอโปรตีน ประกอบขึ้นจาก ดี เอน เอ และโปรตีน ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางพันธุกรรม สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดมีโครโมโซมแตกต่างกัน โปรคาริโอตมีโครโมโซม ๑ โมเกุล แต่ยูคาริโอตอาจมีโครโมโซมมากกว่า ๑ โมเลกุลอยู่ในนิวเคลียส
โครงสร้างของโครโมโซมในระยะอินเตอร์เฟส โครโมโซมจะคลี่ขยายออกเป็นเส้นใยเล็ก ๆ เรียกว่าโครมาติน ในระดับโมเลกุล เส้นใยโครมาตินคือสาย ดี เอน เอ พันรอบแกนโปรตีนฮิสโตน เป็นก้อนเล็กๆ เรียกว่านิวคลีโอโซม (nucleosome) แต่ละหน่วยนิวคลีโอโซมจะเชื่อมกันด้วยช่วงของสาย ดี เอน เอ สั้น ๆ ทำให้โครงสร้างของโครมาตินเป็นคล้ายสายเชือกทีกำลังร้อยลูกปัด (bead and string)
ในระยะที่จะมีการแบ่งเซลล์เส้นใย โครมาตินจะขดม้วนตัว แลัวพับซ้อนกันแน่นขึ้นเห็นเป็นแท่งติดสีเข้มในนิวเคลียส กลายเป็นโครงสร้างที่เรียกว่าโครโมโซม ซึ่งมีรูปร่างเป็นแท่งโครมาติดสองแท่ง เชื่อมกันด้วยส่วนที่เรียกว่าเซนโทรเมียร์
ฮีสโตน เป็นโปรตีนที่พบได้เฉพาะในเซลล์ร่างกาย (somatic cell) ประกอบขึ้นจากกรดอะมิโนที่มีฤทธิ์เป็นเบสอันได้แก่ lysine, arginine และ histidine ในปริมาณที่มากถึงร้อยละ ๒๕ ของกรดอะมิโนที่เป็นองค์ประกอบทั้งหมด ฮีสโตนแบ่งออกเป็น ๕ ชนิดคือ H1, H2a, H2b, H3 และ H4 เมื่อรวมตัวกับ ดี เอน เอ เป็นนิวคลีโอโซม ฮีสโตน H2a, H2b, H3 และ H4 อย่างละ ๒ หน่วย จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางสำหรับการพันม้วนสาย ดี เอน เอ และมี H1 ประกบอยู่ด้านนอก ดังรูป

ดี เอน เอ (Deoxyribonucleic acid DNA)

ดี เอน เอ เป็นสารชีวโมเลกุลที่ใหญ่ที่สุด ในคนพบ ดี เอน เอ ในนิวเคลียสของเซลล์และในไมโตคอนเดรีย ดี เอน เอ มีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน ตั้งแต่มีรูปร่างเป็นวงกลม เช่น พลาสมิดซึ่งเป็น ดี เอน เอ ขนาดเล็กในบักเตรีจนถึง ดี เอน เอ ขนาดใหญ่พันม้วนกับแกนโปรตีนอย่างซับซ้อนจนมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ เช่น โครโมโซมในเซลล์มนุษย์

หน้าที่ทางชีวภาพของนิวคลีโอไทด์

หน้าที่ทางชีวภาพของนิวคลีโอไทด์

๑) เป็นหน่วยย่อย (building block) สำหรับการสร้างกรดนิวคลีอิก โดยที่ไรโบนิวคลีโอไทด์เป็นหน่วยโครงสร้างของ อาร์ เอน เอ และดีออกซีไรโบนิวคลีโอไทด์เป็นหน่วยโครงสร้างของ ดี เอน เอ
๒) เป็นสารตัวกลางเก็บพลังงาน พลังงานที่ได้จากการเผาผลาญสารอาหารสามารถเก็บไว้ในรูปพลังงานพันธะเคมีระหว่างหมู่ฟอสเฟต (anhydride bond) ภายในโมเลกุลของนิวคลีโอไทด์ที่มีฟอสเฟตมากกว่า ๑ หมู่ สารตัวกลางเก็บพลังงานที่รู้จักกันดีได้แก่ ATP
๓) เป็นตัวกลางในการออกฤทธิ์ของฮอร์โมน เช่น cAMP
๔) เป็น coenzyme เช่น FAD FMN NAD NADP

นิวคลีโอไซด์

มีอีกโครงสร้างหนึ่งที่ควรจะรู้จักคือ นิวคลีโอไซด์ (nucleoside) ซึ่งก็คือสารที่ประกอบขึ้นจาก น้ำตาลเพนโทสกับเบสไนโตรเจนเท่านั้น มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะ ß -N- glycosidic ที่คาร์บอนตำแหน่งที่ ๑ ของน้ำตาล
ความสัมพันธ์ระหว่าง nucleotide กับ nucleotide อาจจำอย่างง่ายๆ เป็นสมการก็ได้คือ
pentose + purine(pyrimidine) = nucleoside
nucleoside + phosphate = nucleotide
เนื่องจากว่าน้ำตาลเพนโทสเป็นวงแหวนโมเลกุลที่มีอะตอม ๕ อะตอม ในส่วนของเบสไนโตรเจนนั้น เบสพิวรีนมีอะตอม ๙ อะตอมในวงแหวน เบสไพริมิดีนมี ๖ อะตอมในวงแหวน เมื่อมีการสร้างพันธะเคมีระหว่างน้ำตาลกับเบสไนโตรเจนขึ้นเป็นนิวคลีโอไซด์ ความยุ่งยากในการเรียกตำแหน่งอะตอมในโมเลกุลของทั้งสองโครงสร้างก็เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนจึงมีการตกลงกันว่า ตำแหน่งอะตอมในเบสไนโตรเจน ให้แทนด้วยตัวเลขธรรมดาคือ 1- 9 ในเบสพิวรีน และ 1 - 6 ในเบสไพริมิดีน ส่วนตำแหน่งอะตอมคาร์บอนในน้ำตาลเพนโทสนั้น ให้มีเครื่องหมาย " ′ " บนตัวเลข เช่น " คาร์บอนตำแหน่ง 5′ " เป็นต้น
จากนิวคลีโอไซด์ไปเป็นนิวคลีโอไทด์นั้นจะมีหมู่ฟอสเฟตเพิ่มขึ้นมา หมู่ฟอสเฟตนี้เกิดจากการสร้างพันธะเอสเธอร์ระหว่างกรดฟอสฟอริกกับหมู่ไฮดรอกซีที่คาร์บอนตำแหน่ง 5′ ของน้ำตาลไรโบส เราเรียกนิวคลีโอไทด์ที่มีหมู่ฟอสเฟตที่คาร์บอนตำแหน่ง 5′ นี้ว่า nucleoside-5′-monophosphate การเรียกชื่อนิวคลีโอไซด์และนิวคลีโอไทด์ จะเรียกผันตามชื่อของน้ำตาลและเบส

กรดนิวคลีอิก

สิ่งมีชีวิตถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานโดยอาศัยสารพันธุกรรมคือ กรดนิวคลีอิก ในธรรมชาติมีกรดนิวคลีอิกอยู่เพียง ๒ ชนิด ได้แก่กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิกหรือ ดี เอน เอ กับกรดไรโบนิวคลีอิกหรือ อาร์ เอน เอ กรดนิวคลีอิกจัดเป็นสารพวกแมโครโมเลกุล เป็นโพลีเมอร์ของนิวคลีโอไทด์เรียกว่า polynucleotide เพื่อให้เข้าใจคุณสมบัติทางเคมีของกรดนิวคลีอิก เราควรทำความเข้าใจคุณสมบัติทางเคมีของนิวคลีโอไทด์ให้ได้เสียก่อน ดังนั้นในบทความนี้จึงเริ่มแนะนำให้รู้จักกับนิวคลีโอไทด์ก่อนที่จะเรียนเรื่องกรดนิวคลีอิกต่อไป

สิ่งที่กำหนดเพศในมนุษย์

สิ่งกำหนดเพศในมนุษย ์์
โครโมโซมของคนมี 46 แท่ง หรือ 23 คู่ แบ่งเป็น
1. โครโมโซมร่างกาย มี 44 แท่ง หรือ 22 คู่ เพศชายหรือเพศหญิงมีโครโมโซมร่างกายเหมือนกัน
2. โครโมโซมเพศ มี 2 แท่ง หรือ 1 คู่ ในเพศชายเป็น XY เพศหญิงเป็น XX ดังนั้นโครโมโซมเพศชายเป็น 44+XY
โครโมโซมเพศหญิงเป็น 44+XX
โอกาสที่ลูกจะเกิดมาเป็นเพศหญิงหรือเพศชายนั้นขึ้นอยู่กับโครโมโซมของพ่อถ้าลูกได้รับโครโมโซม Y จากพ่อ และ X จากแม่ ก็จะเป็นเพศชาย
แต่ถ้าลูกได้รับโครโมโซม X จากพ่อ และ X จากแม่ ก็จะเป็นเพศหญิง
อัตราส่วนการเกิดลูกเพศชายและเพศหญิง แสดงดังต่อไปนี้ พ่อ แม่
44+XY 44+XX
เซลล์สืบพันธุ์ของพ่อและแม่ 22+X,22+Y 22+X,22+X
ลูกที่ได้ 44+XX,44+XX,44+XY,44+XY
จีโนไทป์ 44+XX : 44+XY = 1:1
ฟีโนไทป เพศหญิง : เพศชาย = 1:1
ดังนั้น สรุปได้ว่าโอกาสที่จะเกิดลูกเพศชายหรือเพศหญิงนั้นมีเท่า ๆ กัน คือ 1/2 หรือ 50%